ประวัติ วัดแดนอีสาน

ประวัติ วัดแดนอีสาน วัดป่าที่ตั้งอยู่บนรอยต่อของ 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย และหนองคาย โดยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูง และป่าน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี กำเนิดจากความร่วมแรงร่วมใจของพุทธบริษัทสี่ที่ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งกำลังถูกทำลายในปี พ.ศ.2527 พระเดชพระคุณหลวงปู่ฟั่น อาจาโร ได้เมตตาปรากฏในทิพยนิมิต สั่งให้ไปธุดงค์ทางภาคอีสานเป็นเวลา 10 วัน คุณปิยวรรณ และคุณโอฬาร วีรวรรณ ได้เดินทางมาธุดงค์แถบจังหวัดสกลนคร และอุดรธานี เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาของพระป่า จึงได้เข้าช่วยเหลือท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก สำนักสงฆ์บ้านนาคำน้อย ดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจัดตั้งเป็นวัดป่านาคำน้อย และปลูกป่าทดแทนฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมกว่า 750 ไร่ อย่างถูกต้องตามระเบียบของกรมป่าไม้

ประวัติ วัดแดนอีสาน วัดป่าภูก้อน

ประวัติ วัดแดนอีสาน เพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรม และอยู่อาศัยของพระสงฆ์ ท่านพระอาจารย์อินทร์ถวายได้พาไปดูป่าภูก้อนที่กำลังถูกสัมปทานตีตราตัดไม้ คณะจึงได้ตัดสินใจสร้างวัด โดยกราบอาราธนาท่านพระอาจารย์ชาลี ถิรธัมโม (ปัจจุบันเป็นพระครูจิตตภาวนาญาณ) เป็นประธาน พร้อมทำเรื่องขอใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาตินายูง-น้ำโสม เพื่อสร้างวัดในเนื้อที่ 15 ไร่ จากกรมป่าไม้ จนได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2530 และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกรมการศาสนา จนได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในวันที่ 3 กรกฎาคม 2530 และมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็น ‘วัดป่าภูก้อน’ ขึ้นในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2530 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในวันที่ 7 มิถุนายน 2532

วัดแห่งนี้ ถือเป็นสถานที่ที่หากใครมาอุดรธานีจะต้องมาเยือนให้ได้ ด้วยความสวยงามทั้งสถาปัตยกรรม และความสดชื่นจากป่าไม้ธรรมชาติ ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธไสยาสน์หินอ่อนขาว ยาว 20 เมตร ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากท่านอาจารย์นริศ รัตนวิมล ผู้เป็นยอดศิลปินประติมากรหินของไทย เป็นผู้ออกแบบและแกะสลักองค์พระพุทธไสยาสน์ และท่านอาจารย์สมยศ คำแสง เป็นผู้ออกแบบฐานพระพุทธรูปเป็นภาพปั้นนูนต่ำหล่อทองแดงเรื่องราวของพระมหาปรินิพพานสูตร และยังมีพระมหาเจดีย์ นามว่า “พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์” ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกศ “พระร่วงรุ่งโรจน์ศรีบูรพา” อีกด้วย

วัดมหาวนาราม

วัดเก่าแก่แห่งเมืองอุบลราชธานีที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมากว่า 200 ปี เดิมทีเป็นวันป่ามีชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ หรือวัดป่าใหญ่ ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2322 และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมหาวนาราม ในปี พ.ศ. 2484 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2514 ในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี และได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2521

ที่นี่มีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง เป็นพระประธานในวิหาร พระพุทธรูปปางมารวิชัยลักษณะศิลปะแบบลาว ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และยังมีหลักศิลาจารึกที่ฝังอยู่แท่นข้างหลังองค์พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง มีเนื้อหาปรากฏว่าสร้างหลังจากสร้างเมืองอุบลแล้ว 41 ปี สร้างโดยพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวทิศพรหม สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองคนที่ 2 หลังจากสร้างวัดแล้ว 2 ปี พระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา เจ้าอาวาสพร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปเป็นองค์ประธานและเป็นองค์แทนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขนานนามว่า พระเจ้าอินทร์แปลง มีความหมายว่า “พระอินทร์จำแลงแปลงกายมา” ชาวอีสานเรียก “พระเจ้าใหญ่อินทร์แปง” มีอีกความหมายคือ พระอินทร์สร้าง

วัดโพธิ์ชัย

จากวัดร้างที่ตั้งอยู่บริเวณบ้านไผ่ มีชื่อเรียกว่า วัดผีผิว ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างตั้งแต่เมื่อใด สันนิษฐานว่าเป็นพระอารามสำคัญของเวียงจันทน์ จนท้าวสุวอธรรมา ได้มาสร้างบ้านเมืองหนองคายที่บ้านไผ่ จึงได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญของเวียงจันทน์ที่ยึดมาได้คราวปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ มาไว้ที่วัดหอก่องในปี พ.ศ.2372 และต่อมาในปี พ.ศ.2379 เกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณวัดหอก่อง เกิดเป็นรอยแยกขนาดใหญ่ต่อหน้าพระเสริม ชาวบ้านชาวเมืองรวมไปถึงข้าราชการต่างวิตกกังวล บ้างก็วิจารณ์ว่านี่เป็นลางบอกเหตุร้าย พระปทุมเทวาภิบาลผู้เป็นเจ้าเมือง และกรรมกรเมืองหนองคายจึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดก็มีมติว่า ต้องหาสถานที่เพื่อมาสร้างเป็นวัดใหญ่ และอัญเชิญพระเสริมไปประดิษฐาน ซึ่งก็ได้เลือกวัดผีผิวนั่นเอง

ประวัติ วัดแดนอีสาน วัดผีผิว แม้จะเป็นวัดร้าง แต่ก็เป็นวัดที่มีความสำคัญมาแต่อดีต ภายในประดิษฐานพระธาตุเจดีย์ลาวโบราณ ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา จึงได้มีการบูรณะ และเปลี่ยนนามเป็นวันโพธิ์ชัย ต่อมาในปี พ.ศ.2382 พระปทุมเทวาภิบาล จึงเป็นประธานฝ่ายฆราวาส และมีท่านญาคูหลักคำ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ทำการยกฐานะวัดโพธิ์ชัยจากวัดร้าง ให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา พร้อมกับบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่เป็นที่จำพรรษาของพระภิกษุสามเณร เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2382

นอกจากนี้ยังมีประวัติการสร้างพระสำคัญของที่วัดเล่าสืบต่อกันมาว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง มีพระธิดา 3 พระองค์ ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา พระธิดาองค์โตได้สร้างพระสุก พระธิดาองค์รองสร้างพระเสริม และพระธิดาองค์สุดท้องได้สร้างพระใส โดยพระสุกนั้นได้จมลงที่แม่น้ำโขงขณะอัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯ ส่วนพระเสริมก็ได้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ เช่นกัน โดยปัจจุบันประดิษฐานที่วัดปทุมวนาราม สำหรับที่วัดโพธิ์ชัยแห่งนี้ได้ประดิษฐานหลวงพ่อพระใสไว้

 

บทความแนะนำ